วันพุธที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2556

เครื่องดนตรีไทย

        เครื่องดนตรีไทยเป็นมรดก ทางวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษไทยได้สร้างสมไว้อย่างสืบเนื่องต่อกันมาช้านานเครื่องดนตรีแต่ละประเภทมีประวัติ   ที่มา ลักษณะ รูปแบบการบรรเลง การประสมวง และการเรียกชื่อที่แตกต่างกันไปดังจะได้กล่าวตามลำดับดังนี้

การบัญญัติชื่อเครื่องดนตรีไทย
        1. เรียกชื่อตามเสียงที่ได้ยิน เช่น ฉิ่ง ฉาบ โกร่ง กรับ โหม่ง ระนาดทุ้ม เป็นต้น
        2. เรียกชื่อตามรูปร่างลักษณะ เช่น ซอสามสาย จะเข้ สองหน้า กลองยาว ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก เป็นต้น
        3. เรียกชื่อตามแบบแผนที่ใช้ประกอบการเล่น เช่น กลองชาตรี ฆ้องระเบง ปี่กาหลอ เป็นต้น
        4. เรียกชื่อตามตำนาน (ส่วนใหญ่รับมาจากชาติอื่น ) เช่น กลองมลายู กลองแขก กลองจีน ปี่ชวา ปีมอญ

เครื่องดนตรีประเภท ดีดได้แก่ กระจับปี่ พิณ ซึง จะเข้              

กระจับปี่
        กระจับปี่ คือ พิณชนิดหนึ่งมี 4 สาย กะโหลกเป็นรูปรีแบน ทั้งด้านหน้า และด้านหลังทวนยาวเรียวโค้งมีนมรับนิ้วสำหรับกดสาย 11 นม ไม้ดีดทำด้วยเขาหรือกระดูกสัตว์ กระจับปี่เป็นเครื่องดนตรีโบราณ


พิณ
        พิณมี 2 ชนิดสือ พิณน้ำเต้า และพิณเพียะ
        ลักษณะคล้ายกัน คือกะโหลกทำด้วยน้ำเต้ามีลูกบิดสายสำหรับเร่ง และตั้งเสียง พิณน้ำเต้ามีสายเดียว ส่วนพิณเพียะมี 4 สาย ใช้ดีดประสาน และคลอกับเสียงร้องของผู้เล่นเอง

ซึง
        ซึงมี 4 สายเหมือนกระจับปี่ มีรูปร่างคล้าย พิณวงเดือนของจีน (จีนเรียก เยอะฉิน) ของไทยทางภาคเหนือ เรียก ซึง ส่วนภาคอีสาน เรียกพิณอีสานเป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองภาคเหนือใช้ประสมวงกับปี่ซอ

จะเข้
        เป็นเครื่องดีดที่มีเสียงกังวาน ไพเราะ สันนิษฐานว่า ปรับปรุงมาจากพิณ เพื่อให้นั่งดีดได้สะดวก ตัวจะเข้ทำด้วยไม้ขนุนท่อนเดียวมีเท้ารองตอนหัว 4 อัน ตอนปลายหาง อีก 1 อัน  มี 3 สาย ไม้ดีดกลม ปลายแหลม ใช้ดีดไปบนสายที่พาดบนนม นม มี 11 อัน ประสมอยู่ในวง เครื่องสาย วงมโหรี
เครื่องดนตรีประเภท สี ได้แก่ ซอสามสาย ซอด้วง ซออู้ สะล้อ

ซอสามสาย
        เป็นเครื่องดนตรีเก่าแก่ของไทย ในสมัยสุโขทัยเรียก ซอพุงตอ กะโหลกซอทำด้วยกะลามะพร้าวชนิดพิเศษ คือมีกะลานูนเป็นกระพุ้งออกมา 3 ปุ่ม ขึงหนังแพะหรือหนังลูกวัวปิดปากกะลาส่วนประกอบที่สำคัญนอกจาก หย่องซึ่งเป็นไม้สำหรับหนุนสายตรงหนังซอให้สายตุงออกมายังมีถ่วงหน้าตรงด้านซ้ายตอนบนซึ่งช่วยให้้ซอมีความไพเราะ กังวาน ทั้งยังเป็นที่ประดับประดา อัญมณีเพื่อให้เกิดความสวยงาม ใช้บรรเลงประสมอยู่ในวงขับไม้ วงมโหรี และวงดนตรีประกอบชุดโบราณคดี

ซอด้วง
        มี 2 สาย กะโหลกซอเดิมทำด้วยกระบอกไม้ไผ่ ในปัจจุบันนิยมใช้ไม้เนื้อแข็งเจาะกลึง ขึ้นหน้ากะโหลก ซอด้วยหนังงูเหลือม คันทวนตอนบนปาดปลาย ลักษณะคล้ายโขนเรือ มีลูกบิด 2 อันสอดคันชักระหว่าง สายซอ  ทั้ง 2 เส้น เนื่องจากรูปร่างลักษณะของซอคล้ายด้วงดักสัตว์จึงเรียกว่า “ซอด้วง ใช้ประสม ในวงเครื่องสาย และมโหรี ทำหน้าที่เป็นเครื่องนำวงในวงเครื่องสาย

ซออู้
        มี 2 สาย กะโหลกทำจากกะลามะพร้าวปาดข้าง และแกะสลักลวดลาย เพื่อเปิดให้มีช่องเสียง หุ้มหนัง ซอด้วย หนังแพะ หรือหนังลูกวัว คันทวนตั้งตรง ลักษณะเด่นของซออู้ คือ เสียงที่ทุ้มต่ำกังวาน  ดำเนินการ บรรเลงให้มีท่วงทำนองอ่อนหวาน เศร้าโศกได้ดี ประสมอยู่ในวงเครื่องสาย วงมโหรี วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ วงปี่พาทย์ไม้นวม และวงดนตรีประกอบระบำชุดโบราณคดี


สะล้อ
        เป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองของภาคเหนือ มี  2-3 สาย ลักษณะคล้ายซออู้กับซอสามสายผสมกัน มีคันชัก อยู่ด้านนอก ใช้บรรเลงเดี่ยวบ้าง บรรเลงประสมกับซึงบ้าง หรือกับปี่ซอบ้าง เป็นต้น

เครื่องดนตรีประเภท ตี ได้แก่ ร ะนาดเอก   ระนาดทุ้ม   ระนาดเอกเหล็ก   ระนาดทุ้มเหล็ก   ฆ้องวงใหญ่   ฆ้องวงเล็ก  ฆ้องมอญวงใหญ่   ฆ้องมอญวงเล็ก


ระนาดเอก
        เป็นเครื่องดนตรีที่มีวิวัฒนาการมาจากกรับ โดยการนำกรับหลายอันที่มีขนาดแตกต่างกันมาร้อยเรียง และ แขวนบนรางระนาด ผืนระนาดทำจากไม้ไผ่บง ไม้ชิงชัน ไม้มะหาด ไม้พยุง เป็นต้น  มีลูกระนาด 21-22 ลูกเทียบเสียงด้วยการติดตะกั่วผสมขี้ผึ้ง มีไม้ตี 2 ชนิด ไม้แข็ง และไม้นวม โดยปกติจะตีพร้อมกัน ทั้ง 2 มือ เป็นคู่แปด ดำเนินทำนองเก็บถี่ โดยแปรจากทำนองหลัก(ฆ้อง)      เป็นทำนองเต็มทำหน้าที่เป็นผู้นำวง

ระนาดทุ้ม
        เป็นเครื่องดนตรีที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยประดิษฐ์เลียนแบบระนาดเอก แต่ใหญ่ กว้าง  และเสียงทุ้มกว่า มีลูกระนาด 17-18 ลูก ทำหน้าที่ แปรทำนองหลักจากฆ้อง เป็นทาง และลีลาตลกคะนอง มีการขัด ล้อ ล้วงล้ำ เหลื่อม เป็นต้น ตีสอดแทรก ยั่วเย้า หยอกล้อ ไปกับเครื่องดำเนินทำนองให้สนุกสนาน

ระนาดเอกเหล็ก
        เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ระนาดทอง  เป็นเครื่องดนตรีที่ประดิษฐ์ขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ 4โดยประดิษฐ์จากเหล็ก หรือทองเหลือง เมื่อบรรเลง จึงมีเสียงดังกว่าระนาดไม้ ทำหน้าที่ในการบรรเลง โดยแปรลูกฆ้องออกเป็นทำนอง เต็มเหมือน ระนาดเอก เพียงแต่ไม่ทำหน้าที่ผู้นำวงเท่านั้น

ระนาดทุ้มเหล็ก
        ประดิษฐ์ขึ้นในสมัย รัชกาลที่ 4 โดยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริให้สร้างขึ้น โดยทรงได้แนวคิด มาจากหีบเพลงฝรั่ง ระนาดทุ้มเหล็กมี 16 ลูก ทำหน้าที่โดยแปรลูกฆ้องออก เป็นทำนอง เต็ม มีเสียงกังวาน และหึ่งจึงคล้าย (Bass) ของวง ดนตรีตะวันตก



ฆ้องวงใหญ่
        วิวัฒนาการมาจากฆ้องเดี่ยว ฆ้องคู่ ฆ้องราว และฆ้องราง จนกระทั่งเป็นฆ้องวง โดยมีลูกฆ้องร้อยเรียงบนรางรอบร้านฆ้อง จำนวน 16 ลูก เรียงจากลูกใหญ่ด้านซ้ายมือ มาหาลูกเล็กด้านขวามือ ดำเนินทำนองหลักอันเป็นแม่บทของเพลง จัดเป็นเครื่องดนตรีที่มีความสำคัญที่สุด นักดนตรีในวงปี่พาทย์ทุกคน ต้องเริ่มหัดเรียนฆ้องวงใหญ่ก่อนจึงจะเปลี่ยนเป็นไปเรียนเครื่องดนตรีชนิดอื่นสันนิษฐานว่าฆ้องวงใหญ่มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย

ฆ้องวงเล็ก
        ประดิษฐ์ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เพื่อให้เข้ากับฆ้องวงใหญ่ มีขนาดเล็กกว่า แต่มีจำนวนลูกฆ้อง มากกว่า โดยมี 18 ลูก ทำหน้าที่ ดำเนินทำนองโดยแปรลูกฆ้อง ออกเป็นทำนองเต็ม ทำหน้าที่สอดแทรกทำนองในทางเสียงสูง

ฆ้องมอญวงใหญ่
        เป็นเครื่องดนตรีของชาวรามัญ นักดนตรีไทยนำเครื่องดนตรีชนิดนี้มาบรรเลงทั่วไป เพื่อประกอบ ละครพันทางบ้างประโคมในงานศพบ้าง ลักษณะของฆ้องมอญจะมีรูปทรงโค้งขึ้นไปทั้งสองข้าง มีลวดลาย ตกแต่งสวยงาม มีลูกฆ้อง 15 ลูก ดำเนินทำนองเพลง และทำหน้าที่เหมือนฆ้องวงใหญ่ของไทย

ฆ้องมอญวงเล็ก
        ประดิษฐ์ขึ้นตามแบบอย่างฆ้องวงเล็ก แต่ให้มีรูปทรงเหมือนฆ้องมอญ มีลูกฆ้อง 18 ลูก ดำเนินทำนองเพลง และทำหน้าที่แปรลูกฆ้องเหมือนฆ้องวงเล็กของไทย

เครื่องประกอบจังหวะ ได้แก่ ตะโพน กลองทัด กลองสองหน้า ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง กลองแขก โทน-รำมะนา กลองชาตรี

ตะโพน
        เป็นกลองสองหน้า หน้าหนึ่งใหญ่ และ อีกหน้าหนึ่งเล็ก หน้าใหญ่เรียกว่า หน้าเท่ง หน้าเล็กเรียกว่าหน้ามัดใช้ตีกำกับจังหวะ หน้าทับต่างๆ ของเพลงไทยในวงปี่พาทย์ ตะโพนสามารถตีได้ ถึง 12 เสียง

สองหน้า
        มีรูปร่าง เหมือนเปิงมาง กลองชนิดนี้ สร้างขึ้นเลียนแบบเปิงมาง แต่มีขนาดใหญ่กว่า ใช้ตีกำกับจังหวะในวงปี่พาทย์แทนตะโพน  เพื่อใช้ประกอบการขับเสภา เริ่มใช้มาตั้งแต่ สมัยรัชกาลที่ 2

กลองทัด
        เป็นกลองที่ชาวไทยทำขึ้นใช้แต่เดิมมีขนาดใหญ่ที่สุดในวงปี่พาทย์กลองชนิดนี้เป็น  กลองสองหน้าขึงด้วยหนัง ตัวกลองทำด้วยไม้ เนื้อแข็ง ข้างกลองมีห่วงสำหรับแขวนหรือตั้ง ขาหยั่ง 1 ห่วง เวลาตีใช้ตีเพียงหน้าเดียว ไม้สำหรับใช้ตีเป็นไม้รวก 2 ท่อน

กลองตะโพน
        กลองตะโพนนี้ได้ปรับปรุงใช้สำหรับ วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ ดัดแปลงโดย การนำตะโพนมาตีอย่างกลองทัด โดย ใช้ไม้นวมเป็นไม้ตี ไม่ได้ใช้ฝ่ามือตี อย่างตะโพน

รำมะนา
        เป็นกลองหน้าเดียว มี 2 ชนิด รำมะนามโหรี  ขนาดเล็กใช้ตีกำกับจังหวะในวงเครื่องสาย และวงมโหรี โดยใช้ตีคู่กับ โทน รำมะนาลำตัด  ขนาดใหญ่ไทยได้แบบอย่างมาจากชวา ในสมัย รัชกาลที่ 5 ใช้ประกอบ การแสดงลำตัด

กลองชนะ 
        รูปร่างเหมือนกลองมลายู แต่สั้นกว่า แต่เดิมใช้ตีเป็นจังหวะในการฝึกเพลงอาวุธ จึงเรียกกลองชนิดนี้ว่า กลองชนะ  เพื่อเป็นมงคล ในสมัยต่อมาใช้ตีเป็นเครื่อง ประโคมในขบวนเสด็จพยุหยาตรา

กลองแขก
        รูปร่างเป็นทรงกระบอก ชุดหนึ่งมี  2 ลูก ลูกหนึ่งเสียงต่ำ เรียก “ตัวเมีย”อีกลูกหนึ่ง เสียงสูง  เรียก “ตัวผู้” ใช้ตีด้วยฝ่ามือ ใช้ตีกำกับในวงปี่พาทย์ และใช้แทนโทน-รำมะนา ในวงเครื่องสายได้อีกด้วย

กลองมลายู
        รูปร่างเหมือนกลองแขก แต่ สั้นกว่า  ไทยนำมาใช้ในขบวนแห่ ต่อมาใช้ตีประโคมศพโดยจัดเป็นชุด ชุดหนึ่งมี 4 ลูก ภายหลังได้ลดลงเหลือเพียง 2 ลูก เพื่อใช้บรรเลงคู่กันเหมือน กลองแขกในวงปี่พาทย์

กลองชาตรี
        รูปร่างของกลองชาตรีเหมือนกลองทัด แต่รูปร่างเล็กกว่ามาก ใช้บรรเลงร่วมใน วงปี่พาทย์ชาตรี กลองนี้เรียกตามเสียง ที่ตีอีกอย่างหนึ่งว่า “กลองตุ๊ก”

กลองยาว
        เป็นกลอง หน้าเดียว มีสายสำหรับสะพาย คล้องคอ ใช้มือตี เพื่อความสนุกสนาน ผู้เล่นอาจใช้กำปั้น ศอก เข่า ศรีษะ ฯลฯ เราได้แบบอย่างการตีกลองยาวมาจากพม่าสมัยที่พม่าเข้ามาตั้งแต่ค่ายเพื่อทำสงครามกับไทย

มโหระทึก
        เป็นกลองชนิดหนึ่งแต่เป็นกลองหน้าเดียว หล่อด้วยโลหะผสมทองแดง ตะกั่ว ดีบุก กว้าง 65 เซนติเมตร สูง 53 เซนติเมตร ก้นกว้าง 70.5 เซนติเมตร เอว 50 เซนติเมตร คอดเป็นมโหระทึก ใช้ในพระราชพิธี และ กระทำกิจของสงฆ์

เปิงมางคอก
        ใช้เปิงมาง จำนวน  7 ลูก มีขนาดลดหลั่นกัน ผูกเรียงลำดับตามขนาดจากใหญ่ไปเล็กโดยทำเป็นวงลักษณะเป็นคอก จึงเรียกว่า “เปิงมางคอก” ใช้ตีประสานคู่กับตะโพนมอญ

ฉิ่ง
        เป็นเครื่องตีกำกับจังหวะ ทำด้วยโลหะ รูปร่างกลม เว้ากลาง ปากผาย คล้ายฝาขนมครก ไม่มีจุกสำรับหนึ่งมีสองฝาเจาะรูตรงกลางที่เว้า  สำหรับร้อยเชือกโยงฝาทั้งสอง เพื่อสะดวกในการถือตี ฉิ่งมีสองขนาด ขนาดใหญ่ใช้ประกอบวงปีพาทย์ ขนาดเล็ก ใช้กับวงเครื่องสายและมโหรี

ฉาบ
        เป็นเครื่องตีกำกับจังหวะ ทำด้วยโลหะ  รูปร่างคล้ายฉิ่ง แต่ มีขนาดใหญ่กว่าและ หล่อบางกว่า มีสองขนาด ขนาดใหญ่กว่าเรียกว่า  ฉาบใหญ่ ขนาดเล็กกว่า เรียกว่า ฉาบเล็ก การตีจะตีแบบประกบ และตีแบบเปิดให้เสียงต่างกัน

กรับพวง
        ทำด้วยไม้หรือโลหะ ลักษณะเป็นแผ่นบาง หลายแผ่นร้อยเข้าด้วยกัน ใช้ไม้หนาสองชิ้นประกบไว้ ลักษณะคล้ายพัดกรับเสภา ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ลักษณะเป็นแท่งสี่เหลี่ยม มีสันมน

ฆ้องโหม่ง
        รูปร่างเหมือนกับฆ้องชัย  แต่ขนาดเล็กและบางกว่า เส้นศูนย์กลางประมาณ๒๐ - ๒๕ ซม.ฆ้องเหม่ง รูปร่างเหมือนกับฆ้องโหม่งแต่มี ขนาดใหญ่กว่า และหนากว่า ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ ๑๗ ซม.

โทน
        เป็นกลองที่ขึงด้วยหนังหน้าเดียว  ใช้ตีกำกับจังหวะในวงดนตรีไทยมี ด้วยกัน 2 ชนิดโทนชาตรี  ตัวกลองทำด้วยไม้ใช้กับ วงปี่พาทย์ชาตรี ตีประกอบการแสดงโนห์ราชาตรีและหนังตะลุง นอกจาก นั้นยังใช้ตีกำกับ จังหวะในวงปี่พาย์ วงเครื่องสาย และวงมโหรี เมื่อเล่นเพลงเขมร และตะลุง โทนมโหรี ตัวกลองทำด้วยดินเผา ด้วยเหตุที่กลองชนิดนี้ใช้ตีเฉพาะในวงเครื่องสาย และวงมโหรี จึงเรียกว่า โทนมโหรี เวลาตีใช้ตีคู่กับ รำมะนา

บัณเฑาะว์
        เป็นคำบาลี มาจากคำว่า “ปณวะ”เป็นกลองสองหน้า ขนาดเล็กพอถือไกวได้ กลองชนิดนี้ไม่ได้ตีเหมือนกลองชนิดอื่นๆ แต่ใช้มือไกวโดยพลิกข้อมือกลับไป มา ให้ลูกตุ้มที่ผูกไว้ปลายเชือก โดยไปกระทบ ที่หน้ากลองทั้งสองหน้า ใช้ในงาน พระราชพิธี

เครื่องดนตรีประเภท เป่า ได้แก่ ปี่ ขลุ่ย

        ปี่ เป็นเครื่องดนตรีที่มีมาแต่โบราณ มีลักษณะ  และวิธีการเป่าที่เป็นเอกลักษณ์ทั้งยังเลียนเสียงคำพูดของคนได้ชัดเจน  และใกล้เคียงที่สุด ปี่ที่กล่าวมานี้ มี 3 ชนิด คือ ปี่ใน  ปี่กลาง  และปี่นอก มีรูปร่างเหมือนกัน ต่างกันที่ขนาด
        ปี่ใน มีขนาดใหญ่ ใช้ บรรเลง ในวงปี่พาทย์ไม้แข็ง  และประกอบการแสดงโขน ละคร
ปี่กลาง มีขนาดกลาง ใช้ บรรเลง ในวงปี่พาทย์ไม้แข็ง  และประกอบการแสดงโขน หนังใหญ่ ซึ่งแสดง กลางแจ้ง

      ปี่นอก มีขนาดเล็ก่ใช้ บรรเลง ใน วงปี่พาทย์ไม้แข็ง (ปัจจุบันไม่นิยมนำมาประสมวง)  และวงปี่พาทย์ชาตรี ประกอบละครชาตรี  โนรา หนังตะลุง
        ปี่ชวา เดิมเป็นของชวา ตัวปี่มี 2 ท่อน ท่อนบนเรียกเลาปี่  ท่อนล่างเรียกลำโพง ทำด้วยไม้ หรืองาช้าง ปี่ชวา มีเสียงแหลมดัง ใช้เป่าคู่กับกลองแขกเรียกวงปี่กลองแขก ใช้ประกอบการแสดงกระบี่กระบอง และการชกมวยไทย ประสมกับกลองมลายูเรียกว่า วงปี่กลองมลายู และวงบัวลอยนอกจากนี้ยังประสม ในวงปี่พาทย์นางหงส์ และวงเครื่องสายปี่ชวา
        ปี่มอญ เป็นปี่ของชาวรามัญ ประกอบด้วยเลาปี่ และลำโพงปี่ทำด้วยทองเหลืองทั้ง 2 ส่วนนี้ สอดสวมกัน หลวมๆ มีเชือกผูกโยงมิให้หลุดจากกัน  ปี่มอญมีเสียงโหยหวน  ฟังแล้วชวนให้เกิดอารมณ์เศร้า ใช้ประสม ในวงปี่พาทย์มอญ และ บรรเลงประกอบใน การฟ้อนของภาคเหนือ
        ปี่ซอ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าปี่จุม  เป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองภาคเหนือทำด้วยไม้รวกมีหลายขนาดแตกต่างกันไปประสมในวงปี่ซอ และบรรเลงร่วมกับวงดนตรีพื้นเมืองอื่นๆของภาคเหนือปี่ซอเมื่อบรรเลงรวมเป็นวงปี่ซอจะมี 4 เล่ม คือ ปี่แม่ ปี่กลาง ปี่ก้อย และปี่เล็ก

        ขลุ่ย เป็นเครื่องเป่าดั้งเดิมของไทย เหตุที่เรียกว่า “ขลุ่ย” สันนิษฐานว่าเรียกตามเสียงที่ได้ยิน ปกติ ขลุ่ยจะทำด้วยไม้รวกปล้องยาวๆ ไว้ข้อทางส่วนปลาย  วัสดุอื่นที่นำมาแทนมีงาช้าง ไม้จริง ท่อเอสลอน ขลุ่ยเลาหนึ่งมีรูสำหรับนิ้วปิดเปิดเพื่อเปลี่ยนเสียง 7 รู มีดากปิดส่วนบนสำหรับเป่าลมตอนล่างมีรูปากนกแก้ว และนิ้วค้ำ ขลุ่ยมี 4 ชนิด
        ขลุ่ยอู้ เป็นขลุ่ยขนาดใหญ่ที่สุดใช้ประสมวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ เป็นต้น
ขลุ่ยเพียงออ เป็นขลุ่ยขนาดกลาง ใช้ประสมในวงปี่พาทย์ไม้นวม วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ วงเครื่องสายปี่ชวา วงเครื่องสาย วงมโหรี เป็นต้น


        ขลุ่ยหลิบ เป็นขลุ่ยขนาดเล็ก แต่ใหญ่กว่าขลุ่ยกรวด ใช้ประสมในวงเครื่องสาย วงมโหรีและวงเครื่องสาย ปี่ชวา เป็นต้น

วันอังคารที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2556

องค์ประกอบของดนตรีไทย



1. เสียงของดนตรีไทย   
       ประกอบด้วยระดับเสียง 7 เสียง แต่ละเสียงมีช่วงห่างเท่ากันทุกเสียง      เสียงดนตรีไทย แต่ละเสียงเรียกชื่อแตกต่างกันไป ในดนตรีไทยเรียกระดับเสียงว่า “ทาง”

 2. จังหวะของดนตรีไทย 
       “จังหวะ”         มีความหมายถึงมาตราส่วนของระบบดนตรีที่ดำเนินไปในช่วงของการบรรเลงเพลงอย่างสม่ำเสมอ     เป็นตัวกำหนดให้ผู้บรรเลงจะต้องใช้เป็นหลักในการบรรเลงเพลง จังหวะของดนตรีไทยจำแนกได้     3 ประเภท คือ   
       1. จังหวะสามัญ หมายถึงจังหวะทั่วไปที่นักดนตรียึดเป็นหลักสำคัญในการบรรเลงและขับร้องโดยปกติจังหวะสามัญที่ใช้กันในวงดนตรีจะมี  3 ระดับ คือ
              จังหวะช้า                 ใช้กับเพลงที่มีอัตราจังหวะ   สามชั้น
              จังหวะปานกลาง        ใช้กับเพลงที่มีอัตราจังหวะ   สองชั้น
              จังหวะเร็ว                 ใช้กับเพลงที่มีอัตราจังหวะ   ชั้นเดียว
       2. จังหวะฉิ่ง หมายถึง  จังหวะที่ใช้ฉิ่งเป็นหลักในการตี โดยปกติจังหวะฉิ่งจะตี “ฉิ่ง…ฉับ” สลับกันไป ตลอดทั้งเพลง แต่จะมีเพลงบางประเภทตีเฉพาะ “ฉิ่ง” ตลอดเพลง บางเพลงตี “ฉิ่ง  ฉิ่ง  ฉับ” ตลอดทั้งเพลง หรืออาจจะตีแบบอื่นๆ ก็ได้ จังหวะฉิ่งนี้นักฟังเพลงจะใช้เป็นแนวในการพิจารณาว่าช่วงใดเป็นอัตราจังหวะ สามชั้น  สองชั้น  หรือ ชั้นเดียวก็ได้ เพราะฉิ่งจะตีเพลงสามชั้นให้มีช่วงห่างตามอัตราจังหวะของเพลง  หรือ ตีเร็วกระชั้นจังหวะ ในเพลงชั้นเดียว
       3. จังหวะหน้าทับ หมายถึงเกณฑ์การนับจังหวะที่ใช้เครื่องดนตรี ประเภทเครื่องตีประเภทหนังซึ่งเลียนเสียงการตีมาจาก “ทับ”  เป็นเครื่องกำหนดจังหวะ เครื่องดนตรีเหล่านี้ ได้แก่ ตะโพน กลองแขก สองหน้า โทน - รำมะนา หน้าทับ
3. ทำนองดนตรีไทย
       คือลักษณะทำนองเพลงที่มีเสียงสูงๆ ต่ำๆ สั้นๆ ยาวๆ สลับ คละเคล้ากันไป ตามจินตนาการของคีตกวีที่ประพันธ์   บทเพลง ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้ เหมือนกันทุกชาติภาษา จะมีความแตกต่างกันตรงลักษณะประจำชาติที่มีพื้นฐานทางสังคม วัฒนธรรม ไม่เหมือนกัน เช่น เพลงของอเมริกัน อินโดนีเซีย อินเดีย จีน ไทย ย่อมมีโครงสร้างของทำนองที่แตกต่างกัน ทำนองของดนตรีไทยประกอบด้วยระบบของเสียง การเคลื่อนที่ของเสียง ความยาว ความกว้างของเสียง และระบบหลักเสียงเช่นเดียวกับทำนองเพลงทั่วโลก
       1. ทำนองทางร้อง  เป็นทำนองที่ประดิษฐ์เอื้อนไปตามทำนองบรรเลงของเครื่องดนตรี และมีบทร้องซึ่งเป็นบทร้อยกรอง ทำนองทางร้องคลอเคล้าไปกับทำนองทางรับหรือร้องอิสระได้ การร้องนี้ต้องถือทำนองเป็นสำคัญ
       2. ทำนองการบรรเลง หรือทางรับ เป็นการบรรเลงของเครื่องดนตรีในวงดนตรี ซึ่งคีตกวีแต่งทำนองไว้สำหรับบรรเลง ทำนองหลักเรียกลูกฆ้อง “Basic Melody” เดิมนิยมแต่งจากลูกฆ้องของฆ้องวงใหญ่ และแปรทางเป็นทางของเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ ดนตรีไทยนิยมบรรเลงเพลงในแต่ละท่อน 2 ครั้งซ้ำกัน ภายหลังได้มีการแต่งทำนองเพิ่มใช้บรรเลงในเที่ยวที่สองแตกต่างไปจากเที่ยวแรกเรียกว่า “ทางเปลี่ยน”
4. การประสานเสียง
       หมายถึง การทำเสียงดนตรีพร้อมกัน 2 เสียง พร้อมกันเป็นคู่ขนานหรือเหลื่อมล้ำกันตามลีลาเพลงก็ได้
       1. การประสานเสียงในเครื่องดนตรีเดียวกัน เครื่องดนตรีบางชนิดสามารถบรรเลงสอดเสียง พร้อมกันได้  โดยเฉพาะทำเสียงขั้นคู่   (คู่2  คู่3  คู่4  คู่5  คู่6  และ คู่7)
       2. การประสานเสียงระหว่างเครื่องดนตรี คือ การบรรเลงดนตรีด้วยเครื่องดนตรีต่างชนิดกัน สุ้มเสียง และความรู้สึกของเครื่องดนตรีเหล่านั้น ก็ออกมาไม่เหมือนกัน แม้ว่าจะบรรเลงเหมือนกันก็ตาม
       3. การประสานเสียงโดยการทำทาง  การแปรทำนองหลักคือ ลูกฆ้อง “Basic Melody” ให้เป็นทำนองของเครื่องดนตรีแต่ละชนิดเรียกว่า “การทำทาง” ทางของเครื่องดนตรี (ทำนอง)แต่ละชนิดไม่เหมือนกันดังนั้นเมื่อบรรเลงเป็นวงเครื่องดนตรีต่างเครื่องก็จะบรรเลงตามทางหรือทำนองของตน โดยถือทำนองหลักเป็นสำคัญของ  การบรรเลง

ลักษณะดนตรีไทย



ลักษณะดนตรีไทย
         ลักษณะการประสานเสียงของดนตรีไทยตามแบบโบราณนั้น ใช้หลัก อาศัยสีเสียง (Tone color) ของเครื่องดนตรีเป็นเครื่องแยกแต่ละแนวทำนอง คือให้เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นประสานเสียงกันแบบแนวนอน คือให้เสียงลูกตกตรงกัน มากกว่าประสานแบบแนวตั้งที่อาศัยคอร์ด (chord) เป็นพื้นฐานหลักตามแบบสากล

ลีลาดนตรีไทย
         ลีลาเครื่องดนตรีไทย หมายถึงท่วงท่าหรือท่วงทำนองที่เครื่องดนตรีต่างๆได้บรรเลงออกมา สำหรับลีลาของเครื่องดนตรีไทยแต่ละเครื่องที่เล่นเป็นเพลงออกมา บ่งบอกถึงคุณลักษณะและพื้นฐานอารมณ์ที่จากตัวผู้เล่น เนื่องมาจากลีลาหนทางของดนตรีไทยนั้นไม่ได้กำหนดกฏเกณฑ์ไว้ตายตัวเหมือนกับดนตรีตะวันตก หากแต่มาจากลีลาซึ่งผู้บรรเลงคิดแต่งออกมาในขณะเล่น เพราะฉะนั้นในการบรรเลงแต่ละครั้งจึงอาจมีทำนองไม่ซ้ำกัน แต่ยังมี ความไพเราะและความสอดคล้องกับเครื่องดนตรีอื่นๆอยู่
         ลักษณะเช่นนี้ได้อิทธิพลมาตั้งแต่สมัยโบราณ ที่มี"กฎเกณฑ์" อยู่ที่การวาง "กลอน" ลงไปใน "ทำนองหลัก" ในที่นี้ หมายถึงในเพลงไทยเดิมนั้นเริ่มต้นด้วย "เนื้อเพลงแท้ๆ" อันหมายถึง "เสียงลูกตก" ก่อนที่จะปรับปรุงขึ้นเป็น "ทำนองหลัก" หรือที่เรียกว่า "เนื้อฆ้อง" อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งในชั้นเนื้อฆ้องนี้ส่วนใหญ่จะยังคงเป็นทำนองห่างๆ ยังไม่มีความซับซ้อนมาก แต่ยังกำหนดลักษณะในการเล่นไว้ให้ผู้บรรเลงแต่ละคนได้บรรเลงด้วยลีลาเฉพาะของตนในกรอบนั้นๆ โดยลีลาที่กล่าวมาก็หมายถึง "กลอน" หรือ "หนทาง" ต่างๆที่บรรเลงไปนั่นเอง

ประวัติความเป็นมา






      เป็นศิลปะแขนงหนึ่งของไทย ได้รับอิทธิพลมาจาก ประเทศต่าง ๆ เช่น อินเดีย จีน อินโดนีเซีย และอื่น ๆ เครื่องดนตรีมี 4 ประเภท ดีด สี ตี เป่า

ประวัติ
      ในสมัยกรุงสุโขทัย ดนตรีไทยมีลักษณะเป็นการขับลำนำ และร้องเล่น วรรณคดี "ไตรภูมิพระร่วง" กล่าวถึงเครื่องดนตรี ได้แก่ ฆ้อง กลอง ฉิ่ง แฉ่ง (ฉาบ) บัณเฑาะว์ พิณ ซอ ปี่ไฉน ระฆัง กรับ และกังสดาล
       สมัยกรุงศรีอยุธยา มีวงปี่พาทย์ที่ยังคงรูปแบบปี่พาทย์เครื่องห้าเหมือนเช่นสมัยกรุงสุโขทัย แต่เพิ่มระนาดเอกเข้าไป นับแต่นั้นวงปี่พาทย์จึงประกอบด้วย ระนาดเอก ปี่ใน ฆ้องวงใหญ่ กลองทัด ตะโพน ฉิ่ง ส่วนวงมโหรีพัฒนาจากวงมโหรีเครื่องสี่ เป็นมโหรีเครื่องหก เพิ่มขลุ่ย และรำมะนา รวมเป็นมี ซอสามสาย กระจับปี่ ทับ (โทน) รำมะนา ขลุ่ย และกรับพวง
       ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เริ่มจากรัชกาลที่ 1 เพิ่มกลองทัดเข้าวงปี่พาทย์อีก 1 ลูก รวมเป็น 2 ลูก ตัวผู้เสียงสูง ตัวเมียเสียงต่ำ รัชกาลที่ 2 ทรงพระปรีชาสามารถการดนตรี ทรงซอสามสาย คู่พระหัตถ์คือซอสายฟ้าฟาด และทรงพระราชนิพนธ์เพลงไทย บุหลันลอยเลื่อน รัชสมัยนี้เกิดกลองสองหน้าพัฒนามาจากเปิงมางของมอญ พอในรัชกาลที่ 3 พัฒนาเป็นวงปี่พาทย์เครื่องคู่ มีการประดิษฐ์ระนาดทุ้มคู่กับระนาดเอก และฆ้องวงเล็กให้คู่กับฆ้องวงใหญ่
        รัชกาลที่ 4 เกิดวงปี่พาทย์เครื่องใหญ่พร้อมการประดิษฐ์ระนาดเอกเหล็ก และระนาดทุ้มเหล็ก รัชกาลที่ 5 สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ทรงคิดค้นวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ประกอบการแสดงละครดึกดำบรรพ์ ในรัชกาลที่ 6 นำวงดนตรีของมอญเข้าผสมเรียกวงปี่พาทย์มอญโดยหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) มีการนำอังกะลุงเข้ามาเผยแพร่เป็นครั้งแรก และนำเครื่องดนตรีต่างชาติ เช่น ขิม ออร์แกนของฝรั่งมาผสมเป็นวงเครื่องสายผสม